หลักการและเหตุผล

 

เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2525 โดยการจัดตั้งดังกล่าวคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2524 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน และมีความต้องการเงินทุน ในการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวให้มีรายได้เพิ่มเติมจากอาชีพหลักโดยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

 

วัตถุประสงค์

 

เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมไทย ตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 โดยการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการจัดหาวัตถุดิบ เครื่องมือ อุปกรณ์ การผลิต การจ้างแรงงานในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ การรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้และการให้ยืมเงิน สำหรับการประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม

 

คุณสมบัติผู้มีสิทธิขอกู้เงิน

  

1. ราษฎร  ผู้ซึ่งเคยได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

2. ราษฎร ผู้ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านการตลาด การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตหรือวิธีปฏิบัติในการดำเนินงานทางธุรกิจ

3. ราษฎร ผู้ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย และ กิจการนั้นมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ

4. กลุ่มอาชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย
และมีคณะกรรมการดำเนินงานของกลุ่ม พร้อมทั้งมีทะเบียนสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน และจัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนเป็นหลักฐาน โดยมีหน่วยราชการในพื้นที่ซึ่งสนับสนุนกลุ่มอาชีพนั้น ให้การรับรองเป็นหนังสือ

5. กลุ่มอาชีพหรือองค์กรที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลรวมทั้งนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือหัตถกรรมไทยของราษฎร

6. บุคคลผู้ซึ่งประกอบอาชีพที่สนับสนุนส่งเสริมเกื้อกูลแก่ผู้ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย และกิจการนั้นมีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ

 

ประเภทอุตสาหกรรมที่ให้บริการ

 

ง.1 ประเภทอาหาร หมายถึง ผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่ใช้บริโภคสด แต่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ทั้งอาหารแปรรูปที่พร้อมบริโภค หรืออาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีกระบวนการแปรรูปหรือผลิตสำเร็จรูปชัดเจน โดยมีเงื่อนไข มีหลักฐานคำขอมาตรฐานระบบอาหารและยา (อย.) หรือมีหลักฐานคำขอมาตรฐานระบบควบคุมคุณภาพ (GMP)หรือมาตรฐานอื่นรองรับ

ง.2 ประเภทเครื่องดื่ม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์ประเภทชงละลาย และผลิตภัณฑ์ประเภทชง เช่น น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ขิงผงสำเร็จรูป ชาใบหม่อน เป็นต้น โดยมีเงื่อนไข มีหลักฐานคำขอมาตรฐานระบบอาหาร  และยา (อย.) หรือมีหลักฐานคำขอมาตรฐานระบบควบคุมคุณภาพ (GMP) หรือมาตรฐานอื่นรองรับ

ง.3 ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย หมายถึง ผ้าทอและผ้าถักจากเส้นใยธรรมชาติ หรือ เส้นใยธรรมชาติผสมเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าแพรวา ผ้าพื้นเมืองทุกประเภท ผ้าถักโครเชต์ เป็นต้น และผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้า เครื่องประดับตกแต่ง ร่างกายทุกประเภทจากวัสดุทุกประเภท เช่น ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋า เข็มขัด สร้อยคอ ต่างหู รองเท้า เป็นต้น

ง.4 ประเภทของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องเรือน ผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้สอยต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มจักสานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สอย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น

ง.5 ประเภทศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก หมายถึง ผลิตภัณฑ์สิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อน วิถีชีวิตภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นของขวัญของที่ระลึก

ง.6 ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร หมายถึง ผลผลิตจากธรรมชาติที่ไม่ใช่ การบริโภค และรักษา เช่น เครื่องสำอางสมุนไพร สบู่สมุนไพร น้ำมันหอมระเหย รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสปาทุกชนิด  เป็นต้น

ง.7 ประเภทอื่น ๆ หมายถึง ประเภทอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการสนับสนุนหรือต่อเนื่องประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 6 ประเภท เช่น กลุ่มงานบริการ ซ่อม เชื่อม กลึง หล่อ ชุบ บรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เป็นต้น หรือเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน SMEs หรือเกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ กรณีเข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม ต้องจดทะเบียนโรงงานอุตสาหกรรม